ทำแผล

ทำแผล

การทำแผลกดทับและแผลเจาะคอ ควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังจากการทำความสะอาดร่างกายหรือทุกครั้งหากแผลสกปรก และแผลเจาะคอควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง (หลังจากดูดเสมหะหรือทำความสะอาดร่างกายเรียบร้อยแล้ว) หรือเมื่อมีเสมหะเปื้อนหรืออับชื้น
แผลกดทับ
แผลระดับ 1มีรอยแดงบริเวณที่มีการกดทับ
1) หาสาเหตุที่ทำให้เกิดรอบแดงว่าเกิดจากการกดทับจากท่านอนใด จัดท่าให้ลดการกดทับบริเวณแผลให้มากที่สุด
2) พลิกตะแคงตัวอย่างน้อยทุก 1 - 2 ชั่วโมง โดยด้านที่ถูกกดทับควรพลิกตะแคงด้านนั้นเพียง 1ชั่วโมง
3) ใช้ผ้ารองในการยกตัว หลีกเลี่ยงการลากดึง เพื่อลดการกดทับบริเวณที่มีรอยแดง
4) ห้ามนวดหรือประคบด้วยความร้อนบริเวณผิวหนังที่มีรอยแดง
5) จัดผ้าปูที่นอนให้เรียบตึง แห้ง และสะอาดอยู่เสมอ และใช้อุปกรณ์ช่วยกระจายแรงกดทับตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หมอนอิง หมอนข้าง ผ้าห่ม ผ้าขนหนู เป็นต้น
6) ป้องกันการเกิดแผลกดทับบริเวณก้นกบ โดยทำความสะอาดทุกครั้งหลังการขับถ่าย ด้วยสำลีชุบน้ำเปล่าโดยไม่ขัดถู และซับให้แห้ง ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปหรือผ้ารองเปื้อนแบบหนาและเปลี่ยนทุกครั้งที่มีการขับถ่าย
7) ดูแลผิวหนังให้สะอาด ใช้โลชั่นหรือครีมบำรุงผิวทาบริเวณที่มีผิวแห้ง โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูก หรือที่มีรอยแดงควรบ่อย ๆ เพื่อช่วยให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น

แผลระดับ 2 มีหนังลอกหลุด และอาจมีสิ่งคัดหลั่งรั่วซึมหลังเกิดรอยแดงบริเวณที่มีการกดทับ
1) ทำแผลโดยใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อทำความสะอาดรอบแผลและภายในแผล แล้วปิดด้วยผลิตภัณฑ์ปิดแผลเพื่อควบคุมความชุ่มชื้นให้กับแผล ได้แก่ วัสดุปิดแผลชนิดแผ่นตาข่ายที่เคลือบด้วยสารที่ให้ความชุ่มชื้น หรือแผ่นโฟมปราศจากเชื้อที่ช่วยดูดซับและควบคุมสิ่งคัดหลั่งจากแผล
2) พลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 1 - 2 ชั่วโมง โดยด้านที่มีแผลจากถูกกดทับควรพลิกตะแคงด้านนั้นเพียง 1ชั่วโมง เพื่อลดการกดทับ และส่งเสริมการไหลเวียนเลือดมาเลี้ยงบริเวณแผล
แผลระดับ 3 มีแผลเปิดลึกและอาจมีโพรงในชั้นใต้ผิวหนัง
1) ทำแผลโดยใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อทำความสะอาดแผล
2) ใช้แอลกอฮอล์หรือเบต้าดีนเช็ดรอบๆแผลจากขอบแผลแล้ววนรอบแผลออกไป
a. ใช้สำลีชุบน้ำเกลือปราศจากเชื้อเช็ดทำความสะอาดในแผลอย่างเบามือ โดยเช็ดจากข้างในแผลวนออกจนชิดขอบแผล
b. ถ้ามีโพรงแผล ใช้กระบอกฉีดยาบรรจุน้ำเกลือปราศจากเชื้อฉีดล้างทำความสะอาดในโพรงแผล 2-3 ครั้ง จนกระทั่งน้ำยาทำความสะอาดแผลที่ไหลกลับออกมาใส
3) ใช้ผลิตภัณฑ์ปิดแผลตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล
4) ถ้ามีไข้ หรือแผลมีหนอง มีเนื้อตาย กลิ่นเหม็น และแผลกว้างหรือลึกมากขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาและรับคำแนะนำในการดูแลแผลที่เหมาะสม

แผลระดับ 4 แผลลึกถึงกล้ามเนื้อหรือกระดูก มีหนอง มีเนื้อตาย กลิ่นเหม็น หรือมีไข้
ห้ามทำแผลเอง ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อการดูแลแผลที่เหมาะสม

แผลเจาะคอ
1) ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง
2) จัดผู้ป่วยในท่านอนหงาย หนุนต้นคอด้วยผ้า หรือหมอนเล็ก ๆ เพื่อให้คอแหงนขึ้นเล็กน้อย
3) เอาพลาสเตอร์ที่ติดบนก๊อกผืนเก่า และค่อยๆ ดึงผ้าก๊อซที่รองใต้ท่อหลอดลมคอออก
4) คีบก้อนสำลีหรือไม้พันสำลี และเทแอลกอฮอล์ลงบนสำลีบิดพอหมาด เช็ดผิวหนังชิดแผลหลอดลมคอ วนออกรอบๆจนสะอาด
5) คีบก้อนสำลีหรือไม้พันสำลี และเทน้ำเกลือลงบนสำลีพอหมาด เช็ดผิวหนังใต้ท่อหลอดลมคอทั้งด้านบนและล่าง ซ้ายและขวา และทำซ้ำด้วยสำลีใหม่จนสะอาด
6) ห้ามใช้ไม้พันสำลีแยงเข้าไปในท่อหลอดลมคอ เพราะอาจจะหลุดเข้าไป อุดกั้นหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออกได้
7) คีบผ้าก๊อกใหม่ปราศจากเชื้อรองใต้แป้นท่อหลอดลมคอทีละข้าง แล้วปิดพลาสเตอร์ยึดชายผ้าก๊อซด้านล่างเข้าด้วยกัน เพื่อป้องกันท่อหลอดลมคอเสียดสีกับผิวหนัง ในกรณีที่เป็นท่อปีกนิ่ม อาจไม่ต้องใส่ผ้าก๊อซรองก็ได้
8) ปากคีบ หรือถ้วยน้ำยาที่ใช้แล้ว (ถ้าเป็นสแตนเลส) ให้ล้างและต้มฆ่าเชื้อทันทีในน้ำเดือดนาน 30 นาที ส่วนเศษขยะที่ปนเปื้อนใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น ติดป้ายขยะติดเชื้อก่อนทิ้ง