Terms and conditions

"แนะนำแอพพลิเคชัน" หรือ "เราคือใคร"
แพลตฟอร์ม iMedCare: บริการด้วยหัวใจ มอบความห่วงใยถึงบ้าน
we serve excellence care at your home
แพลตฟอร์ม iMedCare เป็นความร่วมมือกันระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมูลนิธิชุมชนสงขลา โดยมี ผศ.ดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย และมูลนิธิชุมชนสงขลาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ในการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงที่บ้าน ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนพิการ และผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยมีผู้ให้บริการ home care giver ไปให้บริการผู้ป่วยที่บ้านซึ่งต้องการรับบริการและสามารถจ่ายค่าบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบริการรองรับสังคมสูงวัย และสร้างรายได้ให้กับผู้ดูแลที่บ้านในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ในการพัฒนาระบบได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. อบจ.สงขลา กสศ.

เงื่อนไขและข้อตกลงการใช้บริการ

นิยาม

  • "องค์กร" หมายถึง มูลนิธิชุมชนสงขลา และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือสถาบันวิชาชีพอื่นในฐานะผู้รับผิดชอบ บริหารจัดการ และจัดทำแอปพลิเคชัน และองค์กรวิสาหกิจระดับพื้นที่ ซึ่งร่วมมือกันดำเนินกิจกรรม
  • "แอปพลิเคชัน IMedCare" หมายถึง แพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องและสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการให้บริการตามชุดกิจกรรมแก่ผู้ใช้งาน ซึ่งได้แก่ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้ดูแลระบบ
  • "ผู้ให้บริการ" หมายถึง ผู้ดูแลที่บ้าน (Home caregiver)
  • ซึ่งเป็นบุคคลที่ผ่านการรับรองโดยองค์กรให้เข้าร่วมบริการดูแลช่วยเหลือผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยปฏิบัติงานตามมาตรฐานที่กำหนด
  • "ผู้รับบริการ" หมายถึง บุคคลที่ประสงค์ว่าจ้างผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์ม ให้มาดูแลช่วยเหลือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่บ้าน ผ่านชุดกิจกรรมการดูแลที่มีในแอปพลิเคชัน IMedCare โดยอาจเป็นญาติ ผู้ปกครอง ผู้ดูแล หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่บ้านโดยตรง
  • "ผู้ประสานงาน" หมายถึง คณะทำงาน ที่มีหน้าที่ในการประสานงานระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการ
  • "ผู้ดูแลระบบ" หรือ "admin" หมายถึง คณะทำงาน หน่วยงานความร่วมมือ ที่มีหน้าที่ดูแลระบบสนับสนุนการดำเนินงานของแอปพลิเคชัน IMedCare
  • "ชุดกิจกรรมการดูแล" หมายถึง ขั้นตอนและวิธีการดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงที่บ้าน ตามมาตรฐานการดูแลที่องค์กรได้กำหนดไว้ ซึ่งไม่ใช่การรักษาหรือบริการทางการแพทย์

เงื่อนไขการให้บริการของแอปพลิเคชัน

  1. ผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ ต้องศึกษาและให้ความยินยอมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่องค์กรกำหนดในเงื่อนไขการให้บริการแอปพลิเคชัน IMedCare ก่อนสมัครสมาชิก
  2. ผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ ให้ความยินยอมให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็น ได้แก่ ข้อมูลที่ผู้ใช้งานป้อนเข้าสู่แพลตฟอร์มโดยตรง เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผู้ใช้งาน ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ ข้อมูลผู้ติดต่อ ข้อมูลสุขภาพที่จำเป็นสำหรับการบริการ ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับบริการ เป็นต้น เพื่อใช้ในการให้บริการและการติดต่อสื่อสาร โดยจะไม่มีการนำไปใช้ในกรณีอื่น นอกเหนือการให้บริการในแอปพลิเคชัน ทั้งนี้หากมีการส่งต่อข้อมูลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเหล่านั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ
  3. ชุดกิจกรรมการดูแล เป็นเพียงการดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นที่บ้านในกิจวัตรประจำวัน สำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเท่านั้น ไม่ใช่การรักษาหรือบริการทางการแพทย์ ซึ่งดำเนินการตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนด
  4. กรณีเกิดความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการหรือการรับบริการ ทางผู้ให้บริการและองค์กรจะพิจารณาและร่วมตรวจสอบกับผู้รับบริการ โดยรับผิดชอบแล้วแต่กรณีไป

เงื่อนไขการใช้บริการของผู้รับบริการ

  1. ผู้รับบริการจะต้องทำการเลือกบริการตามชุดกิจกรรมการดูแล จองวันนัดหมาย ทำสัญญาและชำระเงินผ่านระบบที่มีเท่านั้น และหากผู้ใช้บริการต้องการเพิ่มชุดกิจกรรมการดูแลเพิ่มเติม จะต้องดำเนินการผ่านผู้ประสานงาน โดยมีค่าบริการเพิ่มตามจำนวนรายการ
  2. ผู้รับบริการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจัดเตรียมอุปกรณ์ วัสดุทางการแพทย์ และสถานที่ให้บริการแก่ผู้ให้บริการด้วยตัวเอง
  3. ผู้รับบริการจะต้องทำการชำระเงินค่าบริการให้แล้วเสร็จ ก่อนถึงวันให้บริการ
  4. การเลื่อนหรือยกเลิกการนัดหมายและบริการ
  5. ก. ก่อนการชำระเงิน ผู้รับบริการสามารถยกเลิกการนัดหมายและบริการได้ทุกเมื่อ
    ข. ผู้รับบริการสามารถเลื่อนการนัดหมายและบริการได้ 1 ครั้งต่อรายการโดยการนัดหมายใหม่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ให้บริการตามความเหมาะสม
    ค. กรณียกเลิกนัดหมายเมื่อชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ก่อนถึงเวลานัด 24 ชม. ขึ้นไป มีค่าธรรมเนียม 4% จากยอดชำระ (คืนเงิน 96%)
    ง. กรณียกเลิกนัดหมายก่อนถึงเวลานัดหมายระหว่าง 24 ชม. - 2 ชม. ก่อนถึงเวลานัดหมายมี ค่าธรรมเนียม 50% จากยอดชำระ (คืนเงิน 50%)
    จ. กรณียกเลิกนัดหมายน้อยกว่าเวลานัดหมายระหว่าง 2 ชม. ก่อนถึงเวลานัดหมาย จะไม่มีการคืน ค่าธรรมเนียม
    ฉ. สงวนสิทธิ์การคืนค่าบริการในกรณีที่ผู้ให้บริการไม่สามารถเข้าให้บริการได้ เนื่องจากผู้รับบริการผิดนัดหรือยกเลิกการนัดหมายน้อยกว่า 2 ชม. ก่อนถึงเวลานัดนัดหมาย
    ช. กรณีที่ผู้ให้บริการผิดนัดหรือยกเลิกการนัดหมาย ผู้รับบริการและผู้รับบริการสามารถร้องขอเปลี่ยนแปลงผู้ให้บริการหรือยกเลิกการนัดหมายได้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม
  6. ห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการกระทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องด้านพยาบาลหรือทางการแพทย์ที่ขาดความชำนาญและไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดวิชาชีพรองรับ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ การติดเชื้อ พิการซ้ำซ้อน หรือถึงแก่ชีวิต โดยไม่มีเหตุจำเป็น หรือไม่อยู่ในดุลพินิจและความดูแลของแพทย์และญาติ
    ก. ยกเว้น กรณีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่สามารถทำได้โดยทั่วไปและมีความจำเป็นต้องทำเพื่อช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน
  7. องค์กรคุ้มครองความปลอดภัยและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้ให้บริการทำให้ทรัพย์สินแตกหัก เสียหาย หรือสูญหาย ทั้งนี้จะต้องไม่ใช้ความเสียหายที่เกิดจากความเสื่อมสภาพหรือการชำรุดเสียหายเดิมของทรัพย์สินนั้น ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถร้องเรียนและเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ให้บริการ ผ่านองค์กร
  8. สงวนสิทธิ์ความคุ้มครองและความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการจากการจ้างงานผู้ให้บริการด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ผ่านช่องทางของแพลตฟอร์ม องค์กรจะไม่มีส่วนรับผิดชอบและไกล่เกลี่ยต่อความเสียหาย เหตุการณ์สุดวิสัย และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าวทุกกรณี
  9. ห้ามไม่ให้ผู้รับบริการกระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดต่อกฎหมาย ร่างกาย จิตใจ ศีลธรรม และจริยธรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของผู้ให้บริการเป็นอันขาด หากตรวจพบหรือมีการร้องเรียน ผู้รับบริการจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและอาจถูกระงับการใช้บริการถาวร

การคุ้มครองความเป็นส่วนตัว (Personal Data Protection Policy)

องค์กรตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล จึงกำหนดนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวขึ้นตามพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มในฐานะเจ้าของข้อมูล และกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการการละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 รวมถึงกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  1. นิยาม
    "นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" หมายความว่า นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Policy) ตามพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
    "บุคคล" หมายความว่า บุคคลธรรมดา
    "ข้อมูลส่วนบุคคล" หมายความว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคล (Personal Data) ซึ่งทำให้สามารถระบุบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลนิติบุคคลและข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ
    "ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว" หมายความว่า ข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ของบุคคล แต่มีความละเอียดอ่อนและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้ในการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม (Sensitive Personal Data) ได้แก่ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ หรือข้อมูลอื่นใดซึ่งกระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในทำนองเดียวกันตามที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลประกาศกำหนด
    "คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" หมายความว่า คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
    "การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล" หมายความว่า การเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Processing)
    "เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล"หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) เช่น กรรมการองค์กร ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ คู่ค้า คู่ความร่วมมือ และพันธมิตรทางธุรกิจ
    "ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล" หมายความว่า องค์กร หรือบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller)
    "ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล" หมายความว่า องค์กร หรือบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ องค์กร หรือบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่ดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
    "เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" หมายความว่า บุคคล หรือหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขององค์กร หรือผู้รับจ้างที่ให้บริการตามสัญญากับองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Officer: DPO) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
    "คุกกี้ (Cookies)" หมายความว่า ไฟล์คอมพิวเตอร์เล็ก ๆ ที่จะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลชั่วคราว ที่ทำเป็นลงในคอมพิวเตอร์ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งจะมีผลในขนาดที่เข้าใช้งานระบบเว็บไซต์เท่านั้น
    อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์ม iMedCare นั้นอาจได้รับข้อยกเว้นในการตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง การยกเว้นการบันทึกรายการของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก พ.ศ. 2565 ในการปฏิบัติตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) (4) (5) (6) และ (8) หากดำเนินกิจการในลักษณะวิสาหกิจขนาดย่อม วิสาหกิจขนาดกลาง วิสาหกิจชุมชนหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือกิจการรูปแบบอื่นที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้
  2. การเก็บข้อมูล
    แพลตฟอร์มอาจเก็บรวบรวมข้อมูลต่อไปนี้เมื่อมีการใช้บริการ เพื่อเป็นข้อมูลการบริการ ข้อมูลที่ผู้ใช้งานป้อนเข้าสู่แพลตฟอร์มโดยตรง เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผู้ใช้งาน ข้อมูลผู้ติดต่อ ข้อมูลการชำระเงิน ข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับบริการ เป็นต้น ข้อมูลที่จะเก็บโดยอัตโนมัติเมื่อมีการใช้บริการแพลตฟอร์ม เช่น ที่อยู่อินเตอร์เน็ตโปรโตคอลของอุปกรณ์ (IP Address) สัญญาณ GPS และอาจรวมถึงคุกกี้ (Cookies) พิกเซลแท็ก วัตถุที่รวบรวมอยู่ในเครื่องและเทคโนโลยีที่คล้ายกัน เพื่อรวมรวมข้อมูลอัตโนมัติ เป็นต้น การเก็บข้อมูลในการให้บริการนั้นแพลตฟอร์มจะเก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็นตามวัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมาย
  3. การใช้ข้อมูล
    ข้อมูลต่างๆที่มีอยู่ในแพลตฟอร์มนั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้บริการและปรับปรุงบริการของแพลตฟอร์ม
  4. การแบ่งปันข้อมูล
    ในการใช้บริการ ผู้ใช้บริการยินยอมให้มีการรวบรวมและส่งต่อข้อมูล เพื่อประโยชน์ด้านการดูแลสุขภาพและสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ได้รับจากผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ในการเชื่อมต่อกับการรักษาของผู้ใช้บริการ อาจถูกรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งนี้ท่านสามารถทำการยกเลิกการให้และแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวได้ทุกเมื่อ
  5. สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
    เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิดังต่อไปนี้
    i. สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Right to Access) มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองได้
    ii. สิทธิ์ในการแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล (Right to Rectification) เจ้าของมีสิทธิ์ขอให้แพลตฟอร์มแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ข้อมูลปัจจุบันที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเพิ่มข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์
    iii. สิทธิ์ในการเพิกถอนความยินยอม (Right to Withdraw Consent) บุคคลมีสิทธิที่จะเพิกถอนความยินยอมในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่ตนได้ให้ความยินยอมกับแพลตฟอร์มได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามการเพิกถอนความยินยอมจะไม่ส่งผลต่อการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่เจ้าของข้อมูลได้ให้ความยินยอมไปแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย
    iv. สิทธิในการลบข้อมูลส่วนบุคคล (Right to Erasure) เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอให้แพลตฟอร์มลบ หรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคลของตน หากพบว่าไม่มีความจำเป็นที่จะเก็บรักษาไว้ ตามวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
    อย่างไรก็ดี แพลตฟอร์มอาจปฏิเสธการใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้นของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ ตามหลักเกณฑ์ที่แพลตฟอร์มกำหนด โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย การใช้สิทธิต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น หากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นผู้เยาว์ที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ การใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอม จากผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ ที่มีอำนาจกระทำการแทนผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี